How to treat your eyes before late

ถนอมสายตาไว้ก่อนสายเกิน

ดวงตาเป็นอวัยวะที่มีประโยชน์ไม่ใช่แค่เพียงการมองเห็น ยังช่วยสมอง หูชั้นนอกและหูชั้นใน ในการทรงตัว และที่สำคัญเป็นส่วนหนึ่งของความสวยงามบนหน้าตา จึงเป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ แต่ส่วนใหญ่แล้วเรามักใช้สายตาเพียงอย่างเดียว จะดูแลรักษาก็ต่อเมื่อเกิดโรคหรือดวงตาได้รับบาดเจ็บแล้วเท่านั้น ทั้งๆ ที่วิธีการดูแลและการถนอมดวงตานั้นง่ายนิดเดียว

สาเหตุของการเกิดโรคทางตา
โรคทางตานั้นอาจเกิดจากสาเหตุเดียวหรือเกิดจากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบบ่อย คือ

  1. การติดเชื้อ ซึ่งมักเป็นการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคตาแดงจากไวรัส โรคตากุ้งยิง และโรคริดสีดวงตา เป็นต้น ซึ่งเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย
  2. อายุที่มากขึ้น ทำให้โอกาสการเกิดโรคตาบางชนิดสูงขึ้นด้วย นั่นเพราะเกิดจากการเสื่อมตามธรรมชาติของเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกาย ซึ่งรวมถึงเนื้อเยื่อของลูกตาด้วย เช่น ภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุ โรคต้อหิน โรควุ้นตาเสื่อม เป็นต้น
  3. ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรคตาขี้เกียจ โรคตาบอดสี โรคต้อหิน โรคตาบอดกลางคืน โรคสายตาผิดปกติที่เกิดจากการหักเหของแสงในเด็ก โรคตาเหล่ในเด็ก เป็นต้น
  4. ผลกระทบจากโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ส่งผลให้เป็นโรคเบาหวานขึ้นตา หรือ โรคเนื้องอกสมอง ที่ส่งผลให้เกิดตาเข ตาเหล่ เป็นต้น
  5. สาเหตุจากการขาดสารอาหาร โดยเฉพาะขาดวิตามินเอ เช่น โรคตาบอดกลางคืน
  6. โรคมะเร็งดวงตา เช่น โรคตาวาว (โรคมะเร็งตาในเด็ก) โรคมะเร็งหนังตาหรือมะเร็งเนื้อเยื่อตา เป็นต้น
  7. เกิดอุบัติเหตุต่อดวงตาหรือเกิดจากสภาพแวดล้อมอื่นๆ เช่น โรคตาที่มากับคอมพิวเตอร์ สารเคมีเข้าตาหรือจากการได้รับแสงสว่างจ้าเรื้อรัง เช่น อาชีพช่างเชื่อมโลหะ

วิธีการดูแลดวงตา

  1. รับประทานอาหารมีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะพืชผักผลไม้ที่มีวิตามินเอ เช่น ผักบุ้ง แครอท ตำลึง ผักคะน้า ฟักทอง มะม่วงสุก มะละกอ
  2. สวมแว่นกันแดดทุกครั้งเมื่ออยู่ในที่ที่มีแสงจ้า
  3. หลับตาเพื่อพักสายตาทุก 1 ชั่วโมง เมื่อใช้สายตามากๆ หรือนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
  4. การดูโทรทัศน์ควรปรับความสว่างของจอให้พอควรและควรนั่งห่างจากโทรทัศน์ประมาณ 5 เท่าของขนาดจอ
  5. ไม่เล่นมือถือขณะที่ปิดไฟหรือในที่ที่แสงสว่างไม่เพียงพอ
  6. เมื่อมีฝุ่นละอองหรือเศษผงเข้าตา ห้ามใช้มือขยี้ตาให้ใช้นํ้าสะอาดหรือนํ้ายาล้างตา
  7. ควรตรวจสุขภาพตาจากจักษุแพทย์ปีละครั้ง เพื่อรักษาสุขภาพดวงตาให้ดีอยู่เสมอ

วิธีการถนอมสายตา ฉบับนายแพทย์ วิลเลียม เอช. เบตส์

  1. ครอบดวงตา โค้งอุ้งมือทั้งสองครอบดวงตาไว้เฉยๆ ระวังอย่าให้อุ้งมือกดทับดวงตา นึกถึงบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เช่น วันหยุดสุดสัปดาห์ตามป่าเขาหรือชายทะเล อยู่ในท่านี้สัก 10 นาที
  2. สร้างจินตภาพในขณะยังคงครอบดวงตาอยู่ สร้างจินตภาพว่าตนเองกำลังมองวัตถุบางอย่างที่มีสีสันสดใส มีรายละเอียดต่างๆ ที่ชัดเจน เช่น มองเห็นดอกไม้สีสันสดใส เห็นรายละเอียดกลีบดอกแต่ละกลีบชัดเจน สายตาที่คมชัดจากจินตนาการจะช่วยเยียวยาสายตาจริงๆ ของเราได้เป็นอย่างดี
  3. กวาดสายตามองแบบไม่ต้องจ้อง (คนสายตาสั้นมักจ้องและเขม้นตา) กวาดสายตาไปตามวัตถุที่อยู่ไกลๆ ทางโน้นบ้างทางนี้บ้างทำให้ผ่อนคลายสายตา
  4. ฝึกกะพริบตาบ่อยๆ ประมาณ 1-2 ครั้ง ทุกๆ 10 วินาที ช่วยให้แก้วตาสะอาดและมีนํ้าหล่อเลี้ยง โดยเฉพาะคนที่สวมแว่นหรือคอนแทคเลนส์ยิ่งจำเป็น
  5. โฟกัสภาพใกล้และไกล โดยเหยียดแขนซ้ายไปให้ไกลที่สุดแล้วตั้งนิ้วชี้มือซ้ายขึ้นเพื่อเป็นจุดโฟกัส ขณะเดียวกันตั้งนิ้วชี้มือขวาให้ห่างจากใบหน้าประมาณ 3 นิ้ว โฟกัสภาพที่แต่ละนิ้วสลับกันไปมา สามารถทำได้บ่อยครั้ง
  6. ชโลมดวงตา ตื่นนอนทุกเช้าใช้มือวักนํ้าชโลมดวงตาด้วยนํ้าอุ่นสัก 20 ครั้ง สลับกับการวักนํ้าเย็นชโลมดวงตาอีก 20 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เลือดหมุนเวียนมาเลี้ยงดวงตาดีขึ้น การจบด้วยนํ้าเย็นทำให้กล้ามเนื้อตาและหนังตากระชับไม่หย่อนยาน ก่อนเข้านอนให้วักนํ้าชโลมดวงตาอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ชโลมด้วยนํ้าเย็นก่อนแล้วตามด้วยนํ้าอุ่น จะทำให้กล้ามเนื้อตาและหนังตาได้ผ่อนคลายก่อนเข้านอน
  7. การแกว่งตัว โดยยืนแยกเท้าเท่ากับช่วงไหล่ แกว่งตัวไปมาจากซ้ายไปขวา ถ่ายนํ้าหนักตัวบนขาแต่ละข้างสลับไปมา สายตามองไปไกลๆ แต่ไม่ต้องจ้องปล่อยให้จุดที่เรามองแกว่งไปมาซ้ายขวาตามการแกว่งตัว ท่านี้จะทำใหดวงตาได้พักและมีการปรับตัวดีขึ้น